ในปีพุทธศักราช 2308 พระเจ้ามังระ กษัตริย์พม่าส่งทัพพม่า 2 ทัพใหญ่บุกกรุงศรีอยุธยา ทัพหนึ่งบุกเข้ามาทางใต้ นำโดย มังมหานรธา อีกทัพหนึ่งเป็นทัพผสมรามัญบุกเข้ามาทางเหนือ นำโดย เนเมียวสีหบดี การบุกของทัพนี้ต้องเจออุปสรรคเป็นรายทาง เพราะต้องพบกับกองกำลังต่อต้านโดยชาวบ้านธรรมดา ๆ ทำให้ต้องเดินทัพล่าช้า โดยชาวบ้านที่แตกระสานซ่านเซ็นมารวมตัวกันที่บ้านระจัน โดยมี พ่อแท่น (ชุมพร เทพพิทักษ์) ผู้อาวุโสที่สุดเป็นแกนนำ ที่บ้านระจันมีชาวบ้านที่มีฝีมือหลายคนรวมตัวกัน เช่น อ้ายจัน (จรัล งามดี) ที่แค้นพม่าที่เมียถูกฆ่าตาย, อ้ายอิน (วินัย ไกรบุตร) พรานขมังธนู ที่เพิ่งอยู่กินกับอีสา (บงกช คงมาลัย) เมียสาว และ อ้ายทองเหม็น (บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์) คนพเนจรผมเผ้ารุงรังที่ไม่มีใครรู้หัวนอนปลายตีน ชอบกินเหล้าเมาพับอยู่ใต้เกวียน และมีหลวงพ่อธรรมโชติ (ธีรยุทธ ปรัชญาบำรุง) ผู้ขมังเวทย์แห่งวัดโพธิ์เก้าต้น เป็นขวัญกำลังใจ
ในการรบครั้งหนึ่ง พ่อแท่นได้รับาดเจ็บ อ้ายจันจึงขึ้นเป็นผู้นำคนใหม่ อ้ายจันมีความคิดว่า ทางบ้านบางระจันน่าจะมีปืนใหญ่ใช้ต่อสู้กับพม่า จึงได้ให้ ขุนสรรค์ ร่างใบบอก และให้อ้ายอิน อ้ายเมือง (อรรถกร สุวรรณราช) นำไปแจ้งยังกรุงศรีอยุธยาเพื่อขอยืมปืนใหญ่ หากแต่ทางกรุงศรีอยุธยาไม่ยอมให้ยืม ด้วยเกรงว่าหากบ้านบางระจันพ่ายแก่พม่า พม่าอาจขโมยเอาปืนใหญ่และกระสุนดินดำกลับมาโจมตีพระนครได้
คืนหนึ่ง อ้ายอินได้ละทิ้งเวรยาม แอบพาพรรคพวกไปบุกค่ายของพม่า โดยหารู้ไม่ว่าคืนนั้น ทางพม่าเองก็ได้จัดทัพมาบุกค่ายบางระจันเช่นกัน จากเหตุการณ์นั้นทำให้เกิดความสูญเสียขึ้นในค่ายมากมาย คนหลายคนเสียขวัญ ได้อพยพออกจากค่ายบางระจันไปอยู่กรุงศรีอยุธยา ทำให้ผู้คนในค่ายบางตาลงไป
ต่อมา พระยารัตนาธิเบศร์จากกรุงศรีอยุธยาได้มาช่วยชาวบ้านหล่อปืนใหญ่ หากแต่เมื่อหล่อแล้ว ปืนใหญ่กลับแตกร้าว ใช้การไม่ได้ ในขณะเดียวกัน ทางพม่าก็ได้ สุกี้ พระนายกอง (จิรกิตติ์ สุวรรณภาพ) มาเป็นแม่ทัพคนใหม่ในการบุกค่ายบางระจัน ชาวบ้านบางระจันที่เหลือเพียงหยิบมือเดียว ต่างพร้อมใจกันสละชีพเพื่อปกป้องแผ่นดินเกิด ปืนใหญ่ที่ร้าวทั้งสองกระบอกก็ต้องถูกนำมาใช้ ท้ายที่สุดแล้ว แม้ชาวบ้านบางระจันจะจบลงด้วยความพ่ายแพ้ แต่วีรกรรมที่สร้างไว้ จะคงอยู่ในใจของคนรุ่นหลังสืบไป