เรื่องราวเริ่มต้นในปี 1924 ณ โรงละครฝึกนักแสดงอุปรากรจีนเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง จู่ ๆ โสเภณีนางหนึ่งเลี้ยงลูกไม่ไหวเลยมาทิ้งเด็กชายคนหนึ่งชื่อโตวจื้อ (Douzi)ไว้ที่นี่ ซึ่งเด็กน้อยคนนี้ต้องเผชิญวิบากกรรมชีวิตด้วยการฝึกฝนที่หนักหนาสาหัส ทั้งเจ็บปวด โหดร้าย ยัดเยียดและล้างสมองให้เขาคิดและทำในสิ่งที่ตัวเองไม่ได้เป็น ….นั่นก็คือเป็น ผู้หญิง เป็นที่รู้กันดีว่าการแสดงอุปรากรจีน (เรียกสั้น ๆ ว่า งิ้ว / Peking Opera) ประกอบไปด้วยนักแสดงแต่งองค์ทรงเครื่องวิจิตรตระการตา แต่งหน้าทาสี(เฉพาะผู้ชายจะเทียบเคียงกับการใส่หน้ากาก) มีการร้องรำทำเพลง รวมไปถึงการต่อสู้ร่ายรำอาวุธ ว่าด้วยเรื่องราชสำนัก ขุนนาง พลทหาร บัณฑิตและสาวงามในโบราณกาล อันเป็นศิลปะการแสดงอันเก่าแก่ของจีน ถือกำเนิดขึ้นมากว่าสองร้อยปีแล้ว(เชื่อกันว่าเข้าสู่ปักกิ่งนับตั้งแต่ปีค.ศ. 1790 แต่เป็นรูปเป็นร่างเต็มที่เมื่อปี ค.ศ. 1845) โดยเริ่มเฟื่องฟูเบ่งบานในสมัยราชวงศ์ชิง(แมนจู) ยุคจักรพรรดิเฉียนหลงที่โปรดปรานการแสดงดังกล่าวและถือเป็นศิลปะชั้นสูง โดยออกคำสั่งเมื่อค.ศ. 1772 ว่าตัวละครงิ้วปักกิ่งที่จะแสดงได้ต้องเป็นชายล้วนเท่านั้น …..ผู้หญิงหมดสิทธิ์เล่น เนื่องจากเด็กชายผู้นี้ถูกวางบทบาทชีวิตบนเวทีให้แสดงเป็นหญิง ดังนั้นเขาถูกบังคับให้เปลี่ยนวิธีคิดให้ได้ว่าตัวเองเป็นผู้หญิง แม้จะปฏิเสธครั้งแล้วครั้งเล่าว่า ข้าเป็นเด็กผู้ชาย ทว่าในที่สุด กระบวนการล้างสมองแสนทารุณนี้ก็ประสบความสำเร็จ ตัวเขาต้องยอมจำนน และยอมรับว่า ข้าเป็นเด็กผู้หญิง !! นั่นเป็นประเด็นแรกที่ภาพยนตร์เรื่องนี้กล้าตีแผ่ …โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของรักเพศเดียวกัน อันต้องห้ามในสังคมจีนในยุคนั้นไม่น้อยหน้าอคติอื่นใดของสังคม อีก 13 ปีต่อมา เมื่อเติบโตขึ้น เธอได้รับการขนานนามใช้ชื่อในการแสดงว่าเจิ้งเตี๋ยอี (Cheng Dieyi รับบทบาทโดยเลสลี่ จาง/Leslie Cheung กับการแสดงที่ยอดเยี่ยมที่สุดในชีวิต) กลายเป็นตัวเอกหญิงงามแห่งการแสดงที่แฟนงิ้วชื่นชมติดตามเกรียวกราวในบท นางสนม เคียงคู่กับ ฌอปาอ๋อง ที่รับบทโดยต้วนเสี่ยวโหลว(Duan Xiaolou แสดงโดยจางเฟยอี้ / Zhang Feng-yi) ชายที่เธอรัก ผู้คอยปลอบประโลมกื้อกูลจิตใจเธอตั้งแต่เหยียบย่างเข้าสู่คณะอุปรากรแห่งนี้ ทำให้เธออิ่มเอิบมีความสุขทุกวินาทีกับบทบาทการแสดง และยึดถือว่าโลกแห่งละครนั่นคือชีวิตและความรู้สึกในจิตใจที่แนบแน่นเป็นเนื้อเดียวกับโลกแห่งความเป็นจริง ทว่าในชีวิตหลังเดินลงจากเวที เขากลับไปมีความสัมพันธ์กับหญิงแท้นามว่าจูเซี่ยน (Juxianแสดงโดย กงลี่/ Gongli ) ผู้เป็นนางคณิกามีระดับในหอบุปผา การเข้ามาของจูเซี่ยนสร้างความทุกข์ระทมขมขื่นในจิตใจของเตี๋ยอีอย่างแสนสาหัส ถึงขั้นเกลียดเธอคนนี้ ทว่าจูเซี่ยนอาจถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของ ความเป็นแม่ และ ผู้หญิงที่แท้ ในเงามืดดำแห่งก้นบึ้งจิตใจของเตี๋ยอี แล้วในที่สุดหญิงแท้ทั้งกายใจผู้นี้ก็แสดงความอบอุ่นโอบอ้อมอารีต่อหญิงก็เพียงแต่ใจอย่างเตี๋ยอี ช่วยคลี่คลายสงครามระหว่างคนทั้งคู่ลงไปได้ เมื่อญี่ปุ่นเข้ารุกรานแผ่นดินจีนในปี ค.ศ. 1937 นักแสดงอุปรากรจีนก็ต้องเข้าไปถวายการแสดงรับใช้ต่อหน้าคณะทหารญี่ปุ่นอีก และเป็นปัจจัยหนึ่งที่สร้างความไม่พอใจ รวมทั้งถูกตราหน้าว่าประหนึ่งว่าเป็นคนขายชาติ นอกจากนี้ยังสะท้อนให้เห็นสัจธรรมข้อหนึ่งว่าบทบาทของหญิงยุคเก่า ไม่ว่าจะแท้หรือเทียม ..ไม่พ้นเป็นเครื่องบรรณาการ หรือมีบทบาทเพียงแค่เคียงข้าง ส่งเสริมอำนาจความยิ่งใหญ่ของผู้ชาย หลังจากคอมมิวนิสต์เข้ายึดครองแผ่นดินจีนกลับมาได้ ความทุกข์ระทมก็ยังคงเป็นเพื่อนแท้ของนักแสดงและผู้คนที่เกี่ยวข้องกับอุปรากรจีน เมื่อการปฏิวัติวัฒนธรรมย่างเท้าเข้ามาในปี ค.ศ. 1966 และมองว่าศิลปะและวัฒนธรรมคือความฟุ่มเพือย อันเป็นสัญลักษณ์แห่งศักดินา ความไม่เท่าเทียมกันของสังคม ต้องขจัดทิ้งให้สิ้นไปจากแผ่นดิน ..แล้วนักแสดงงิ้วจะปรับตัวอย่างไรเมื่อแรงบันดาลใจที่ปลุกเร้าให้ตื่นขึ้นมาใช้ชีวิตของพวกเขาต้องดับสูญ